เราจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่หรือไม่ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
2 เมษายน 2553
ก่อนที่ผมจะต้องจากเว็ปไซต์นี้ไปเป็นเวลาสองเดือนอยากจะฝากคำถามไปถึงท่านที่สนใจเรื่องการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาว่า เราจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่หรือไม่
เมื่อเรามีสื่ออิเล็คทรอนิคส์มากมายให้สืบค้นเอกสารและความรู้ได้เหมือนกับไม่มีที่สิ้นสุด ความจำเป็นในการสอนหน้าชั้นเรียนยังมีอยู่หรือไม่ อาจารย์ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ท่านอาจจะมีคำตอบในใจท่าน ในที่นี้ผมอยากจะแสดงทัศนะของผมไว้ดังนี้
1. ท่ามกลางเอกสารมากมายและสิ่งที่ดูเหมือนความรู้ที่สืบค้นได้จากอินเตอร์เน็ตหรือตำราสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ นั้น ท่านทราบหรือไม่ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สิ่งใดที่มีความสำคัญมาก และสิ่งใดที่ไม่สำคัญแล้วไม่จำเป็นต้องสนใจมาก การให้น้ำหนักหรือให้คุณค่าแก่ข้อมูลข่าวสารเช่นนี้จึงยังคงต้องเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะแนะนำศิษย์
2. การถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวของอาจารย์ไปยังศิษย์ จะได้ผลกว่าถ้าพบกันและได้พูดคุยกันจริง ๆ
3. การเผยให้เห็นวิธีการคิด ที่มาของความคิด แนวการคิด การที่ศิษย์จะได้เห็นว่าเรื่องนี้อาจารย์มีวิธีคิดอย่างไร ก็ต่อเมื่อได้สังเกตดูวิธีการตอบคำถามของอาจารย์
4. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สำคัญซึ่งอยู่นอกเหนือตำรา หรือเคล็ดลับวิชาซึ่งเป็นทีเด็ด มักจะไม่เขียนไว้ในตำรา สิ่งนี้เรียกว่า เคล็ดลับอีก 10% ที่เหลือ มักจะถ่ายทอดกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์สายตรงเท่านั้น ผมเคยถามอาจารย์ไกรศรว่า อาจารย์ครับ ทำไมนิวรอลเน็ตเวิร์คส์ที่ผมทำมามันพยากรณ์ไม่แม่นเลยครับ อาจารย์ก็หัวเราะแล้วตอบว่า ก็ในตำรามันเขียนบอกคุณไว้ไม่หมดหน่ะสิ ให้คุณลองทำใหม่แบบนี้นะ 1 2 3 (ซึ่งก็ได้ผลดีขึ้นทันตา)
5. การสอนตามจริตของนักศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ อาจารย์ที่เอาใจใส่นักศึกษาจะพยายามมองว่านักศึกษาแต่ละคนต้องได้รับการสอนหรือการกระตุ้นอย่างไรเพื่อให้เกิดความสนใจและเปิดใจที่จะเรียนวิชา นักศึกษาอาจจะไม่ได้สนใจมากในตอนแรก แต่เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ก็อาจจะหันมาสนใจทุ่มเทให้กับวิชานั้น
6. ความเป็นคนของอาจารย์ย่อมสัมผัสได้ง่ายกว่าความเป็นกระดาษของตำรา
7. เมื่อมีข้อขัดแย้งในการตีความตำรา สมมติว่านักศึกษาสองคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันแล้วจับใจความได้ต่างกัน ใครจะเป็นผู้ตัดสินก็ไม่พ้นคนที่เป็นอาจารย์
8. เวลาที่นักศึกษาจะสนุกหรือไม่สนุกกับวิชาใดวิชาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการจัดประสบการณ์ในห้องเรียน ลูกเล่นที่อาจารย์จะหามากระตุ้นหรือยั่วยุให้อยากรู้ เรื่องเล่าที่สนุกสนานปนเศร้าเคล้าน้ำตา เรื่องที่ต้องจริงจังห้ามปล่อยปละละเลย ความสนุกสนานและตื่นเต้นเหล่านี้เกิดจากอาจารย์เป็นตัวเดินเรื่องหน้าห้องเรียน
9. เวลาสงสัยก็จะถามได้เลย
10. อภิปรายความคิดเห็นกันได้ ถ้าเห็นไม่ตรงกันในบางประเด็น ขึ้นอยู่กับความใจกว้างของทั้งอาจารย์และนักศึกษา
11. เรื่องบางอย่างอาจจะต้องมีการทดลองให้เห็นจริงกันในชั้นเรียน เช่น การเล่นเกมส์อะไรบางอย่าง ง่าย ๆ แต่จดจำไปได้นาน
12. นักศึกษาต่อรองเรื่องวิธีการสอบและข้อสอบได้ ถามแนวข้อสอบได้ก่อน เอาข้อสอบเก่ามาให้อาจารย์ช่วยเฉลยได้ อาจารย์นี่จริง ๆ ก็เอาใจศิษย์น่าดู ดั่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่พระราชทานในเรื่องการศึกษาของชาติ ซึ่งสั้น ๆ และผมจำขึ้นใจว่า ...บางครั้งครูก็ต้องตามใจนักเรียนบ้าง... (ดังนั้นถ้านักเรียนไม่มีครูแล้ว จะมีใครที่จะคอยมาเฮี้ยบในหลาย ๆ ครั้ง และตามใจในบางครั้งหล่ะครับ)
สิบสองข้อนี้อาจพอจะทำให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการเข้าชั้นเรียน และอาจพอจะทำให้อาจารย์เห็นความสำคัญที่จะพยายามจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนให้นักศึกษาได้ประโยชน์เต็มที่ที่สุด
ลาไปก่อนครับ อีกสองเดือนพบกันใหม่ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน
|