งานวิจัยแบบ Interdisciplinary คืออะไร มีทุนวิจัยไหม |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
19 มีนาคม 2553
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า Multidisciplinary Interdisciplinary และ Transdisciplinary ดังนี้
Multidisciplinary
คือ การที่นักวิจัยจากหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง โดยแบ่งงานออกอย่างชัดเจนตามความถนัด เช่น วิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาผลกระทบทางเทคนิค นักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ นักสังคมศาสตร์ทำการศึกษาผลกระทบทางสังคม และนักกฎหมายศึกษาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การเขียนวิเคราะห์ก็จะแยกกันเขียนเป็นบท ๆ จากนั้นก็จะรวบรวมแต่ละบทประกอบกันเข้าเป็นเล่มเดียว ปัญหาในเรื่องนี้คือหากนักวิจัยแต่ละสาขาเขียนผลการวิเคราะห์ไปคนละทิศคนละทาง ผู้อ่านผลการวิจัยก็จะไม่รู้ว่าควรวางนโยบายให้เดินไปทางใดดี
Interdisciplinary
คือ การที่นักวิจัยหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง ในรอบแรกแต่ละคนจะแยกกันไปศึกษาในสาขาของตนก่อนแล้วนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น แต่แทนที่จะเอาแต่ละบทมาประกอบกันเป็นเล่มเฉย ๆ จะต้องมีการประชุมกันในรอบที่สอง (หรือมากรอบกว่านั้น) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่สาขาหนึ่งจะมีต่ออีกสาขาหนึ่ง เช่น หากผลกระทบทางเทคนิคเป็นดังเช่นที่วิศวกรเสนอมา จะมีผลต่อทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร แล้วหากต้องการให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเอื้อต่อผู้ด้อยกว่าทางสังคมจะต้องออกแบบทางเทคนิคและทางกฎหมายอย่างไร กล่าวคือมีการให้โจทย์กันไปมาระหว่างนักวิจัยที่ร่วมอยู่ในทีม ผลการศึกษาในแต่ละด้านจึงจะออกมาสอดรับกัน ไม่ใช่กระจัดกระจายแบบต่างคนต่างไป ซึ่งจะดีสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้ในทางปฎิบัติเพราะเริ่มจะเห็นทางที่ชัดเจนว่านโยบายควรจะเดินไปทางไหนกันแน่
Transdisciplinary
คือ การที่นักวิจัยหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง แล้วไม่เพียงแต่จะโยนให้โจทย์ให้กันในภายหลัง แต่กลับตั้งโจทย์ร่วมกันตั้งแต่แรก แล้วลงมือทำวิจัยด้วยกัน คือ ไปไหนก็ไปด้วยกัน เห็นข้อมูลเหมือน ๆ กัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นคน ๆ เดียวกันแต่แยกเป็นหลายร่าง ต่างคนต่างช่วยกันคิดและท้าทายกันด้วยคำถามใหม่ ๆ อยู่เสมอ จากนั้นพยายามตอบคำถามในส่วนที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ แล้วผนึกคำตอบทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วยังต้องฝ่าด่านคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้ร่วมงานจากสาขาอื่น หากทุกคนสามารถหาจุดที่เป็นที่พอใจของทั้งทีมได้แล้ว จะได้เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ของงาน คำตอบที่ได้จึงไม่ใช่เพียงการตอบโต้กันข้ามโต๊ะเหมือนที่เกิดขึ้นใน Interdisciplinary แต่เป็นการกลั่นเข้าด้วยกันของหลายสาขาวิชา โดยใช้กระบวนการคือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและยาวนาน ซึ่งทีมวิจัยจะได้คำตอบของทีมออกมาซึ่งทุกสาขาที่มาร่วมให้การยอมรับและมั่นใจว่าจะสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง
ทำไมต้องทำวิจัยแบบ Interdisciplinary
หนึ่ง ปัญหาหลาย ๆ เรื่องในการพัฒนาประเทศมักจะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิจิตรศิลป์ ฯลฯ การแก้ปัญหาด้านหนึ่งอาจจะก่อปัญหาอีกด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจำเป็นต้องมีนักวิจัยจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมกัน
สอง การทำวิจัยแบบ Multidisciplinary ไม่เพียงพอที่จะตอบคำถาม เพราะไม่สามารถดึงเอาความสามารถของนักวิจัยจากสาขาต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน หากแต่เป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่ต่างจากการทำวิจัยเดี่ยวในเรื่องของตนเอง
สาม การทำวิจัยแบบ Transdisciplinary ดีกว่าก็จริง แต่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อนักวิจัยอยู่ห่างไกลกัน และไม่ได้พบกันเป็นประจำ ดังนั้นการวิจัยแบบ Interdisciplinary จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
การวิจัยแบบ Interdisciplinary มีทุนวิจัยหรือไม่
ทุนสำหรับการวิจัยแบบ Interdisciplinary มีสองช่องทาง ทางที่หนึ่งคือทุนจากแผนการวิจัยแบบบูรณาการ ซึ่งรองรับงานวิจัยข้ามสาขาโดยตรง และทางที่สอง คือทุนวิจัยประเภทเงินทุนอุดหนุนทั่วไปที่สามารถขอได้จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ปัญหาและอุปสรรคในการวิจัยแบบ Interdisciplinary
การทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากสาขาอื่นจำเป็นที่จะต้องมีหัวหน้าทีมที่ชัดเจน ซึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อนักวิจัยในทีมได้ เป็นที่เกรงใจของลูกทีม และสามารถเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมในเรื่องต่าง ๆ ได้ หากโครงสร้างทางอำนาจมีลักษณะเท่าเทียมกันหมดทั้งทีม จะเกิดปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีใครบังคับใครได้ อาจทำให้งานชะงัก หรือแต่ละคนไม่ยอมประนีประนอมกันในเรื่องผลการวิจัย หรือแม้แต่เรื่องว่าใครจะได้ขึ้นเป็นชื่อแรกในงาน ทีมมีโอกาสแตกง่าย งานไม่เสร็จ แล้วก็จะโดนปรับเงินหรือขึ้นบัญชีดำ
สำหรับในเมืองไทยแล้วจะต้องได้คนที่คนอื่นเกรงใจที่สุด เข้าใจนักวิจัยคนอื่น (มีบารมี) และมีประสบการณ์ในการวิจัย (มีฝีมือ) มาเป็นหัวหน้าจึงจะไปรอด คนที่จะมาเป็นหัวหน้าทีมก็ต้องคิดแล้วว่าจะเอาทีมอยู่ แต่ละคนในทีมไม่งอแง ถ้าไม่ใช่ทีมงานที่รู้มือกันมาก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรรับ คนที่จะมาร่วมทีมก็ต้องคิดแล้วว่าหัวหน้าคนนี้จะดีพอที่จะทำให้ทีมเดินไปได้อย่างราบรื่น มีการแบ่งงานอย่างยุติธรรม มีการยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ถ้าไปเจอหัวหน้าแบบเจ้าอารมณ์แถมยังขี้เกียจด้วย ก็ไม่ควรร่วมทีม หากคิดว่าร่วมงานกันแล้วจะมีปัญหาภายหลังแนะนำว่าให้ทำวิจัยคนเดียวจะดีกว่า โดยเฉพาะอีกสองกรณี คือ แบบโดนคลุมถุงชน (โดนจับให้มาอยู่ด้วยกันแบบไม่ตั้งใจ) กับแบบที่เป็นเพื่อนกันมาก่อน (พอทำงานไปสักพักอาจจะเกิดมหกรรมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด เพราะทำวิจัยด้วยกันมันไม่เหมือนเที่ยวเล่นด้วยกัน) แต่ถ้าทีมไหนตั้งขึ้นมาได้ดีและลงตัวก็มักจะอยู่ไปได้นานหลายสิบปี เพราะว่าคู่แข่งที่จะยืนระยะได้นาน ๆ ด้วยกันมีน้อย |