ถ้าอยากเป็นนักวิจัยที่เก่งต้องฝึกหนักให้กล้ามเนื้อจำได้ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
12 ธันวาคม 2552
บอลไทยโยนยาวอย่างเดียวเพราะกล้ามเนื้อมันจำได้แต่อย่างนั้น นักบอลไทยไม่ค่อยชอบฝึกลิงชิงบอลกันนักเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเจไร้สาระ ทั้ง ๆ ที่เป็นการฝึกให้จ่ายบอลกันง่าย ๆ อย่างแม่นยำและรวดเร็ว และยังเป็นการฝึกให้หาตำแหน่งรับบอลที่ดีด้วย เมื่อไม่ยอมฝึก กล้ามเนื้อก็เลยไม่มีความจำเรื่องการรับส่งบอลกันตรง ๆ เวลาคิดอะไรไม่ออกจึงได้แต่โยนไปข้างหน้าอย่างเดียว
ลองสังเกตดูว่าคนที่ไม่ได้เล่นปิงปองมานานเป็นสิบปีแต่พอให้จับไม้ปิงปองก็เล่นได้เลย นั่นเป็นเพราะการฝึกเล่นอย่างเอาเป็นเอาตายตอนอายุ 12 ขวบ คนที่ฝึกเล่นเปียโนหรืออิเล็คโทนอย่างหนักตั้งแต่เด็กเมื่อได้เอามือวางบนแป้นแล้วก็เล่นได้เลย ไทเกอร์ วู้ดส์ จับไม้กอล์ฟมาแต่เด็กจนกล้ามเนื้อจำได้ว่าต้องตีอย่างนั้นอย่างนี้
ความลับของความสำเร็จอยู่ที่กล้ามเนื้อจำได้
ความลับว่าทำไมนักวิจัยบางคนถึงได้โปรเจคมาก คำตอบก็เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ คือกล้ามเนื้อของเขาจำการเขียน Proposal ได้เป็นอย่างดี ทำให้เขียนได้มากกว่าคนอื่นสามเท่า แล้วทำไมนักวิจัยบางคนถึงได้ตีพิมพ์ในวารสารหรือเข้าร่วมการประชุมวิชาการมาก ก็เพราะกล้ามเนื้อของเขาจำการเขียนบทคัดย่อ (Abstract) และการเขียน Paper สั้น ๆ ที่เหมาะสมกับการตีพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งทำไมนักวิจัยบางคนถึงได้เขียนตำราออกมาเป็นเล่มได้หลายเล่ม ก็เพราะกล้ามเนื้อของเขาจำการเขียนตำราหนา ๆ ได้ดี ทำให้เริ่มต้นง่าย ทำง่าย และทำจนจบได้
การฝึกกล้ามเนื้อของนักเรียนนักศึกษา นักเรียนนักศึกษาที่จะสอบก็ต้องฝึกเขียนตอบข้อสอบ ดังที่ได้เขียนไว้ในเรื่อง เคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ เพราะการซ้อมมือจะทำให้เขียนออกตอนเข้าไปในห้องสอบแล้ว คนที่เอาแต่ท่องอาจจะคิดว่าจำได้แล้วแต่พอให้เขียนก็เขียนไม่ออก หรือไม่ก็ใช้เวลาเขียนนานมาก ยิ่งการสอบในปัจจุบันมีแนวคิดว่าคนที่เก่งจริงและเตรียมตัวมาดีพอต้องสามารถเขียนเลียนแบบสิ่งที่เรียนมา (Reproduce) ได้ในเวลาอันจำกัด คนที่ซ้อมมาดีทำให้เขียนได้เร็ว กระชับและตรงจุดจึงได้เปรียบ
การฝึกกล้ามเนื้อของนักวิจัย 1. นักวิจัยก็ต้องฝึกกล้ามเนื้อ สิ่งที่ต้องฝึกนั้นไล่ไปตั้งแต่การป้อนข้อมูลเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนตอนอายุ 18 มีรุ่นพี่ที่เดี๋ยวนี้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีสอนให้ใช้มือขวาเคาะแป้นตัวเลขโดยไม่ต้องชำเลืองให้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยตาให้จ้องดูตัวเลขในกระดาษแล้วก็เคาะไปไม่ให้ผิด ฝึกอย่างนี้ทุกวันเป็นปี ๆ 2. นอกจากนั้นก็ฝึกการจัดข้อมูลในเอ๊กเซล (Excel) จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเป็นระเบียบ จะคำนวณอย่างไร ใส่สูตรอย่างไร สร้างเงื่อนไขอย่างไร เรียงลำดับอย่างไร ผสมข้อมูลจากหลายแหล่ง (merge) อย่างไร และจะตรวจสอบอย่างไรว่าทุกอย่างทำถูกแล้ว
3. ต่อมาคือการทำโปรแกรมวิเคราะห์ทางสถิติ ต้องฝึกทำเข้าไปจนกระทั่งรู้ว่าเมื่อเปิดโปรแกรมมาแล้วต้องทำอะไรก่อนหลัง ไม่มีการเสียเวลาเงอะ ๆ งะ ๆ คนที่ฝึกมาดีแล้วจะสามารถทำให้แบบจำลองที่บางคนอาจจะต้องรันทั้งอาทิตย์เสร็จได้ในวันเดียว
4. จากนั้นคือการเขียนผลการวิจัยเป็นรายงาน คนที่เขียนมามากก็จะรู้ว่าจะขึ้นต้น เดินเรื่อง และลงท้ายอย่างไร ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งรูปแบบการจัดอักษร หัวกระดาษท้ายกระดาษ เลขหน้า ย่อหน้า ทุกอย่างจะทำไปโดยอัตโนมัติ
5. ไฮไลท์อีกอย่างคือการทำ Presentation โดยมากก็คือการทำ Power Point ซึ่งความชำนาญจากการทำมามาก ๆ จะทำให้รู้ว่าต้องเดินเรื่องอย่างไร เลือกใช้คำพูดแบบไหน ตัวอักษรแบบไหน รูปอะไร จัดภาพเคลื่อนไหวอย่างไร คนที่เก่งแล้วจะสามารถท่องบทไปได้พร้อม ๆ กับการคลิ๊กสไลด์แต่ละหน้า เพราะว่าได้ทำสไลด์ให้สอดคล้องกับบทพูดไว้แล้วอย่างลงตัว
6. ตอนขึ้นนำเสนอต้องสามารถขึ้นพูดได้ทันทีเมื่อถึงเวลาของเรา ถึงเขาให้พูดเดี๋ยวนั้นก็ต้องทำได้ ใจต้องนิ่ง กล้ามเนื้อหัวใจและปอดจะทำงานเองเพื่อไม่ให้ตื่นเต้น แล้วการยืน การเคลื่อนไหวของมือ การขยับปาก และการใช้สายตามอง ทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัตโนมัติด้วยการฝึกซ้อมมาอย่างโชกโชน จำไว้ว่าเราจะไม่แสดงถ้าไม่ได้ซ้อม นั่นหมายความว่าก่อนการแสดงต้องซ้อมเสมอ ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษยิ่งต้องซ้อมมากกว่าภาษาไทย และหลาย ๆ ครั้ง มืออาชีพจริง ๆ ยังจะอัดเทปการพรีเซ้นท์ของตัวเองไว้เพื่อสำรวจข้อบกพร่องแล้วนำไปแก้ไข
7. การผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นเรื่องมองข้ามไม่ได้หลังจากกรำศึกเสร็จไม่ว่าทั้งจากการสอบ การพรีเซ้นท์ หรือการส่งรายงาน แน่นอนว่าที่ผ่านมาเราใช้กล้ามเนื้อไปมากโดยไม่รู้ตัว ผลก็คือกล้ามเนื้อจะล้า บางครั้งอาจจะมีอาการเจ็บปวดไปทั้งตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการสอบใหญ่ ๆ ทางที่ดีก็คือต้องหาทางวอร์มดาวน์ (Warmdown) เหมือนกับการเล่นกีฬาเสร็จใหม่ ๆ ให้ตบกล้ามเนื้อเบา ๆ แช่น้ำอุ่น และพักผ่อนสักสองสามวัน
8. อาหารการกินก็สำคัญมากสำหรับกล้ามเนื้อ ในเมื่อเราใช้กล้ามเนื้อในการทำงาน การไม่ทานอาหารที่ได้สารอาหารครบหมู่จะทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ล้า และตอบสนองช้า หลังจากเสร็จศึกใหญ่โดยมากให้ทานข้าวต้มอุ่น ๆ น้ำข้าว หรือซุปไก่อุ่น ๆ จะทำให้กำลังฟื้นได้เร็ว
การฝึกกล้ามเนื้อของนักวิจัยรุ่นใหม่ การฝึกการเป็นนักวิจัยจึงต้องทำอย่างจริงจังตั้งแต่เด็ก สำนักวิจัยที่มีระบบการฝึกคนดี ๆ จะค่อนข้างโหดและมีโค้ชที่ไม่ยอมลดราวาศอกเรื่องมาตรฐาน นักวิจัยรุ่นน้องบางคนถึงกับร้องว่าทำไมเขาต้องมาทำงานอะไรซ้ำซาก ๆ อย่างเช่น ทำแบบสอบถาม ออกไปเก็บแบบสอบถาม พูดคุยกับผู้คน กรอกข้อมูล คลีน (clean) ข้อมูล จัดเรียงข้อมูล ของพวกนี้จริงอยู่ว่าทำไปนาน ๆ ก็เบื่อ แต่ยิ่งทำยิ่งชำนาญ มันทำให้มีทักษะการวิจัยที่แน่นปึ้ก และพร้อมจะทำข้อมูลได้ในเวลาอันรวดเร็วซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบในยุคข้อมูลข่าวสารที่ต้องแข่งกับเวลา
เมื่อนักวิจัยรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เข้าเรียนในระดับปริญญาโทก็จะได้หัดทำโปรแกรมทางสถิติ เขียนรายงาน และขึ้นพรีเซ้นท์ ซึ่งคณะฯ ดี ๆ ก็จะฝึกกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนกัน ใครที่ไม่ยอมฝึกก็เตรียมตัวกลับไปทำงานเก็บข้อมูลกับกรอกข้อมูลเหมือนเดิมไม่ได้เลื่อนขั้นความรับผิดชอบ นักศึกษาจึงเลือกที่จะฝึกหนักมากกว่าอยู่เฉย ทำให้เมื่อจบออกมาก็ทำงานเป็นนักวิจัยได้เลย เพราะกล้ามเนื้ออยู่ตัวแล้วและจำขั้นตอนการทำงานของนักวิจัยได้ทุกอย่าง คนที่มีทักษะแบบนี้จึงจะเป็นที่หมายปองของสำนักวิจัยทั้งหลายโดยเฉพาะที่ชอบคนเก่งและกล้าจ่ายหนัก
การฝึกกล้ามเนื้อของนักวิจัยรุ่นกลาง การเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจะได้ฝึกกล้ามเนื้อทำอะไรอีกบ้าง อย่างแรกคือการอ่านอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะมีเรื่องให้อ่านมากมายและต้องเร็ว สองคือการสรุปรวบยอดความคิดจากการอ่าน สามฝึกตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องต่าง ๆ เป็นจริงอย่างนั้นหรือ สี่คือฝึกตั้งคำถามวิจัย ห้าคือฝึกลำดับเนื้อเรื่องเองโดยไม่ต้องมีอาจารย์คอยบอกบท หกคือฝึกหาทางพิสูจน์ความคิดหรือสมมติฐานที่ตั้งไว้โดยไม่มีใครบอกบทอีกเช่นกัน และเจ็ดคือฝึกจูงใจให้คนเชื่อตามผลการศึกษาที่เราทำมา รับฟังความคิดเห็น และโต้ตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยสุภาพ ทั้งเจ็ดประการจะเห็นได้ว่าเป็นการฝึกทักษะให้ทำวิจัยได้ด้วยตนเอง คนที่จบปริญญาเอกมาแล้วก็พร้อมที่จะเขียน Proposal หาทุนวิจัยทำเองแล้ว จึงจะกลายเป็นคนหาเงินเข้าสำนักวิจัย เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะเนื้อหอมสุด ๆ
ทั้งหมดนี้เกิดจากการฝึกกล้ามเนื้อให้จำได้อย่างเอาเป็นเอาตาย |