รู้เรื่องเศรษฐมิติ ตอนที่ 7: จะเก่งไม่เก่งอยู่ที่ทัศนคติ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
1 ธันวาคม 2552
เอาละครับพอหอมปากหอมคอเรื่องเศรษฐมิติ คนที่อยากรู้มากขึ้นก็หาเรียนได้ มีแหล่งวิชาการมากมาย
ผมก็อาศัยเรียนจาก Internet ในหลายเรื่อง เพราะมีคนใจดี ๆ เขียนขึ้นเว็ปไว้เยอะทั่วโลก และเขียนไว้ง่าย ๆ นอกจากนั้นตำราเศรษฐมิติเบื้องต้นก็มักจะแนะนำกันว่าให้อ่านของ Gujarati (กูจาระติ) ซึ่งเขียนไว้ไม่ยาก อ่านกันได้เพลิน ๆ แต่ต้องอาศัยเวลาสักเทอมหนึ่งถึงจะอ่านจบนะครับ ไม่นานเกินรอ พออ่านจบแล้วก็จะเห็นภาพกว้าง ๆ ของเศรษฐมิติ ต่อไปหากอยากลงลึกเรื่องไหนก็มีตำราของ Judge et al (1988) เล่มนี้ดีครับ มีตัวอย่างวิธีทำอย่างละเอียด ผมชอบมาก และหากเก่งแล้วอยากเก่งขึ้นอีกก็อ่านของ Greene ซึ่งเป็นเจ้าพ่อในวงการ ส่วนใครที่อยากทำด้านการเงินก็แนะนำให้อ่านเรื่อง Time Series ของ Enders ครับ สำหรับผู้ที่อยากทำโปรแกรมเป็นก็สามารถหาดูตัวอย่างการใช้คำสั่งในโปรแกรมต่าง ๆ ได้ใน internet เดี๋ยวนี้มีคนเขียนไว้เป็นตัวอย่างมากมาย เราก็อาศัยดูเอาจากเขา แล้วก็จะเป็นเร็วขึ้นครับ
เศรษฐมิติไม่ยาก อาศัยหัดทำมาก ๆ ไม่ต้องกลัวมัน ถ้าไม่เริ่มก็จะเป็นได้อย่างไรครับ ไม่รู้ก็ถาม ไม่ได้มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าเราไม่รู้ก็ไม่ได้แปลว่าเราโง่ และคนที่รู้ก็ไม่ได้แปลว่าเขาฉลาด แต่แปลว่าเขามีประสบการณ์ลองผิดลองถูกกับมันมามากกว่าเรา เราเองตอนแรกก็จะผิดมากกว่าถูก ตอนหลังก็ถูกมากกว่าผิด คิดอย่างนี้ก็สบายใจ หมั่นเรียนไปทำไป เดี๋ยวก็เก่งเองครับ
กลัวแต่ว่าพอเก่งแล้วจะอีโก้สูงเท่านั้นแหละครับ อย่าลืมนะครับ ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่องในเศรษฐมิติ ถ้าทำเป็นแล้วก็แบ่งปันคนที่ยังไม่เป็น ถ้าคนที่ทำเป็นมากกว่ามาทักก็อย่าโกรธเขา เขาไม่ได้ว่าเราโง่นะครับ เขาแค่อยากให้เราทำให้ถูกต้องยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง เราอาจจะคิดว่าเราถูกแล้ว แต่ที่ว่าถูกของเมื่อวานก็อาจจะไม่ถูกของวันนี้ ที่ถูกของวันนี้ก็อาจจะไม่ถูกสำหรับพรุ่งนี้ก็เป็นได้ครับ เพราะเศรษฐมิติเป็นวิชาที่พัฒนาตัวเองไปได้เรื่อย ๆ และไวจริง ๆ จนตามแทบไม่ทัน
ลองลงมือทำกันได้แล้วครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ต้องการรู้เศรษฐมิติมากขึ้น ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ
|