รู้เรื่องเศรษฐมิติ ตอนที่ 1: ไม่รู้ก็ไม่ได้แปลว่าโง่ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
1 ธันวาคม 2552
เพื่อน ๆ ร่วมกลุ่มเศรษฐมิติของผมที่เกิร์ทธิงเก้นมีทั้งที่มีความรู้มากและที่ยังไม่รู้อะไร แต่ไม่มีใครมีความคิดว่าคนที่ไม่รู้เศรษฐมิติคือคนโง่ มีแต่คนที่รู้มากกว่ากับที่ยังไม่รู้เท่านั้น ซึ่งคนที่ยังไม่รู้ก็สามารถรู้ได้จากการศึกษาไปเรื่อย ๆ และลองทำไปเรื่อย ๆ
เศรษฐมิติเป็นวิชาที่กว้างมาก หลัก ๆ แล้วเศรษฐมิติแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มแรกคือสมการเส้นตรงทั่วไป (สมการถดถอย) ซึ่งตัวแปรตาม (dependent variable) เป็นจำนวนจริง กลุ่มสอง คือ สมการที่ตัวแปรตามเป็นจำนวนนับ เช่น โลจิต กลุ่มที่สามคือ อนุกรมเวลา (Time series) ซึ่งตัวแปรต้น (independent variable) คือ ค่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาของตัวแปรตาม และกลุ่มที่สี่ก็คือ ระบบสมการ ที่ประกอบด้วยสมการมากกว่าหนึ่งสมการ
การเรียนเศรษฐมิติเหมือนกับการเรียนขับรถ คนที่อยากทำเป็นก็ต้องหัดทำ คนที่ทำมานาน ๆ ก็จะทำเป็น ดังนั้นการเรียนเศรษฐมิติที่ดีก็คือเรียนไปทำไป ถ้าตั้งหน้าตั้งตาจดเล็คเชอร์อย่างเดียวอาจจะพอรู้หลักการ แต่เมื่อลองลงสนามจริง ๆ จะไปไม่เป็น ถ้ามีปัญหาก็จะแก้ไม่ได้
นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่จบปริญญาเอกไม่สามารถรู้เศรษฐมิติถึงขั้นเชี่ยวชาญได้ทุกเรื่อง คนที่จบด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจะรู้ลึกในเรื่องอนุกรมเวลา คนที่จบด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคจะรู้ลึกในด้านระบบสมการ คนที่จบด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาจะรู้ลึกในตระกูลโลจิต และ Panel data analysis เป็นต้น
อาจารย์ที่สอนเศรษฐมิติก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญที่สุดของโลกอย่าง William Greene ก็ไม่ได้รู้จนถึงขั้นสามารถลงมือทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุก ๆ เรื่อง และที่สำคัญโปรแกรมที่เขาเขียนถือว่าเป็นโปรแกรมที่ดีมากและใช้กันทั่วโลกแต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมเศรษฐมิติในทุกรายละเอียด
ดังนั้น เราจะไม่รู้เศรษฐมิติมากสักเท่าไรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก ใครจะมองว่าเราโง่ก็ปล่อยเขามองไป (โดยเฉพาะสังคมคนไทย) แต่ที่เมืองนอก หากเราพบใครสักคนกำลังใช้แบบจำลองที่ไม่ถูกต้อง แล้วมีแบบจำลองอื่นที่เหมาะสมกว่า เราก็จะแนะนำกัน ไม่มีใครคิดว่าใครโง่ มีแต่คนรู้มากกว่าแนะนำคนที่ยังไม่รู้เท่านั้น และไม่มีใครรู้ทุกอย่าง เมื่อคนที่ได้รับคำแนะนำไปลองทำดูแล้วก็จะเก่งขึ้นและรู้มากขึ้น จนกระทั่งสามารถแนะนำต่อให้คนที่ตามมาทีหลังได้
Link
|