ชีวิตเงียบ ๆ ที่เกิร์ทธิงเก้น |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ 11 ตุลาคม 2552 ผมเริ่มต้นชีวิตที่เกิร์ทธิงเก้นได้ประมาณสองสัปดาห์แล้ว ที่นี่เป็นเมืองเงียบ ๆ ผมมีห้องพักสองห้องติดกัน ห้องหนึ่งเป็นห้องทำงาน อีกห้องหนึ่งเป็นห้องนอน ฝั่งห้องนอนอยู่ปลายสุดของตึกทำให้ไม่มีห้องใครอยู่ข้าง ๆ ยิ่งทำให้เงียบมาก ผมไม่เคยได้เจอกับความเงียบอย่างนี้มานานแล้ว ตอนอยู่ที่บอนน์ผมอาศัยอยู่ในห้องเดี่ยว ขนาบข้างด้วยครอบครัวคนจีนและเนเธอร์แลนด์ จังหวะที่เขาอารมณ์ดีเขาก็จะร้องเพลงจีน ผมได้ฟังหลายเพลง บางเพลงก็พอรู้จักเพราะฮิตในเมืองไทย ส่วนชาวเนเธอร์แลนด์จะกลับมาตอนค่ำ ๆ ได้ยินเสียงฝีเท้า ตึง ๆ ๆ ชัดเจนเพราะเขาตัวใหญ่มาก จากนั้นก็จะมีเสียงทีวีดังเล็ดลอดมาถึงห้องเรา กว่าทีวีจะเงียบก็ประมาณตีสองตีสาม นอกจากนั้นเช้าไม่เช้าพวกเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูก ๆ ของครอบครัวนักวิจัยต่างชาติทั้งหลายก็จะผสมโรงร้องกันระงม แต่ก็เป็นความมีชีวิตชีวาไปอีกแบบ ห้องครัวที่บอนน์ไม่ได้แยกเป็นสัดส่วนจากห้องนอน ทำให้กลิ่นอาหารตลบอบอวลไปหมดจนถึงเวลาเข้านอน แต่ที่นี่มีประตูกั้นระหว่างครัว ห้องทำงาน และห้องนอน ทำให้กลิ่นในห้องนอนสะอาดมาก ผมรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้เข้านอน อีกทั้งยังได้นอนบนเตียงจริง ๆ กับเขาสักที เพราะเมื่อก่อนที่บอนน์เป็นโซฟาที่พับเป็นเตียงได้ ซึ่งนอนกันไปมาจนยุบ ผมนอนแล้วเจ็บหลังก็เลยหันไปนอนกับพื้น ซึ่งก็นำความเจ็บปวดส่วนอื่นตามมาอย่างต่อเนื่อง ชีวิตที่เกิร์ทธิงเก้นไม่มีทีวี ไม่มีโทรศัพท์ และผมไม่พกโทรศัพท์เคลื่อนที่เพราะเบื่อที่จะได้ยินเสียงของมัน ตอนอยู่เมืองไทยใช้โทรศัพท์บ่อยมากทำให้ชีวิตไม่สงบก็เลยเบื่ออยากเลิกใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อนที่นี่เขาเอามาให้ใช้ฟรีผมบอกไม่เอาดีกว่า ไม่อยากรับโทรศัพท์ ส่วนการไม่มีทีวีก็ดีเหมือนกัน ตอนแรกก็เหงา ๆ เพราะชอบดูทีวี แต่ตอนหลังคิดว่าดีแล้วเพราะเงียบดี ทำให้มีสมาธิอ่านหนังสือ ผมอ่านหนังสือหนา ๆ ได้จบภายในสองวัน เพราะมันเงียบและไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ ผมต้องอ่านหนังสืออีกมาก เดือนหน้าจะมีสอบวิชา Advanced Development Economics (วันที่ 6 พฤศจิกายน หลังวันครบรอบแต่งงานคุณพ่อคุณแม่ของผมสองวัน) อาจารย์เอาข้อสอบเก่ามาให้ดูแล้วหินมาก ต้องอ่าน Paper เป็นร้อยเรื่อง แล้วพี่แกจะเอาเรื่องไหนมาออกก็ได้ นี่เหลือเวลาอีกสามสัปดาห์ ตกสัปดาห์ละ 30 เรื่อง ก็วันละ 5 เรื่องเป็นอย่างน้อย แต่เท่าที่เคยทำได้คือห้าวันสองเรื่อง สงสัยจะสอบตก ไม่เป็นไรสอบตกก็ลงใหม่เทอมหน้า ระหว่างนี้ยังต้องทำ Presentation 2 รายการ รายการแรกต้องไปสอบวิชา CGE Analysis ที่มหาวิทยาลัย Kiel แต่อาจารย์ยังไม่นัด ผมคิดว่าน่าจะทำเสร็จภายในสองวัน อีกรายการหนึ่งคือการเสนอวิทยานิพนธ์ในงานสัมมนาของกลุ่มวิจัยพวกเดียวกัน คือ Development Economic Research Group ที่มหาวิทยาลัย G?ttingen ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งหากผ่านก็จะได้ไปนำเสนอในงานสัมมนาใหญ่ของคณะฯ แต่น่าจะเป็นเทอมหน้า จากนั้นก็จะสอบจริง คือ Defend thesis กำหนดการคร่าว ๆ เท่าที่วางไว้กับอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผมจะส่งร่างวิทยานิพนธ์สิ้นเดือนเมษายน จากนั้นจะนำเสนอในงานใหญ่ของคณะฯ ช่วงเดือนกรกฏาคม แล้วนัดสอบประมาณเดือนกันยายน ถ้าจบก็จบ ถ้าไม่จบก็คงต้องกลับบ้านเพราะทุนจะหมดแล้ว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างเข้มข้น ผมลงเรียนเทอมนี้อีกสองตัว ตัวแรกคือวิชาสัมมนาเศรษฐมิติ ซึ่งผมจะใช้เวลาพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Participation model แล้วจะได้นำเสนอในชั้นอย่างน้อยสองครั้ง และจะกลายเป็นบทที่ 4 ของผมในวิทยานิพนธ์ ส่วนอีกวิชาหนึ่งคือ ทฤษฎีเกมส์ ซึ่งผมอาจจะทำอะไรบางอย่างกับมันได้จนกลายเป็นบทที่ 3 ในวิทยานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ของผมเสร็จไปสองบทแล้ว เหลือแต่เขียน จากนั้นเทอมนี้ก็ประกอบบทที่ 3 และ 4 ตามที่ได้เรียนไว้แล้วข้างต้น จากนั้นก็ดัดแปลงอะไรนิดหน่อยจากงานที่ทำส่ง Kiel เป็นบทที่ 5 ทุกอย่างก็จะจบ ผมเคยเขียนเรื่อง ทำวิจัยไว้ภายหน้า นั่นเป็นเรื่องจริง เหมือนเราทำบุญให้ตัวเองไว้ภายหน้า ผมถ่อไปเรียนที่ Kiel ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไม่ได้หยุดหย่อนจนร่างกายกรอบไปหมด ก็เพื่อสร้างทางสำหรับการเขียนบทที่ 5 คือเป็นตัวปิดกล่อง ถ้าไม่กลั้นใจไปเสียตอนนั้นก็คงจะต้องรอไปอีกหนึ่งปี หรือไม่ก็หาทางปิดกล่องไม่ได้ วิทยานิพนธ์ก็จะไม่จบเพราะขาดการทำประตู อาจารย์ที่ปรึกษาของผมดีมาก อัธยาศัยและแนวคิดเข้ากันได้ดี ตลอดจนมีเวลาให้และมีน้ำใจช่วยเหลือในเวลาคับขัน เช่น เรื่องทุนและการหาห้องทำงานให้ที่คณะฯ ผมจะย้ายไปทำงานที่คณะประมาณเดือนหน้าแทนที่นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ตอนนี้ก็ทำงานที่บ้านไปก่อน ผมกับอาจารย์ที่ปรึกษาตกลงกันแล้วในกรอบเวลา และเรามีแผน A B C กันไว้สำหรับข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ พวกเยอรมันชอบความชัดเจนและตรงไปตรงมา ถ้ามีปัญหาก็ให้พูดกันไว้เลยตั้งแต่ต้น เต็มที่ผมก็กลับบ้านและส่งวิทยานิพนธ์ไปทาง email จากนั้นก็บินกลับไปสอบ ทั้งหมดก็คงไม่เกินสองปีข้างหน้า ไม่ได้น่ากลัวหรือยุ่งยากอะไร อาจารย์ที่ปรึกษาก็เห็นชอบ ทุกอย่างดูราบรื่น น้อง ๆ หลายคนสนใจถามมาว่าถ้าจะมาเรียนที่เยอรมันจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ผมบอกได้ว่าระบบของที่นี่ต้องการความเป็นผู้ใหญ่ (Maturity) คือมีวินัย ไม่ท้อถอย เรายังต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง (Individualism) และทำงานเป็น (Professional) เพราะจะไม่มีอาจารย์มาคอยจ้ำจี้จ้ำไชเราหรือจับมือเราทำ ทุกอย่างเกิดจากความริเริ่มของเรา เราอยากทำอะไรก็เอาไปเสนออาจารย์ ถ้าอาจารย์เห็นชอบก็โอเค ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์ก็ไม่ขัด (ยกเว้นความคิดที่ผมจะลงหกวิชาเทอมนี้ อาจารย์บอกสี่ตัวพอ แต่ผมก็แอบลงจนครบหกตัวจนได้ ไล่เก็บมาได้สองวิชาตั้งแต่กลางเดือนกันยายนแล้ว) ผมโชคดีที่มาเรียนตอนมีประสบการณ์มาก ทำให้รู้ทางหนีทีไล่ และไม่กลัวเวลาใครจู่โจม การนำเสนองานของผมที่ ZEF (บอนน์) กล่าวกันว่าเป็นครั้งแรกที่บรรดาอาจารย์และนักวิจัยรุ่นพี่ที่เขี้ยว ๆ ทั้งหลายเปลี่ยนความคิดจากการไล่บดขยี้มาเป็นการช่วยเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ จนทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ คือ Optimal gap theorem ที่ช่วยกันพัฒนากับกีโด้ (อาจารย์สถิติของผมที่ชอบเรียกผมว่า คมซ่าน) หลังจากชั่วโมงบรรยายวันนั้น ซึ่งมันอาจจะสามารถเป็นบทที่ 3 ในวิทยานิพนธ์ของผมได้ จนกีโด้แอบกระซิบว่าไม่เคยเห็น ZEF b (แผนกเศรษฐศาสตร์ของ ZEF) ประชุมกันอย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์เท่านี้มาก่อน ตอนนี้ผมก็ชิ่งมาอยู่ G?ttingen แล้ว และได้ลองนำเสนออะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปสามครั้งในกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งยังไม่มีศาสตราจารย์มานั่งฟัง คิดว่าสไตล์ของที่นี่ต่างจากที่บอนน์อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นเยอรมัน เพราะที่บอนน์เป็นสังคมนานาชาติที่มีผู้คนจากกว่า 60 ชาติ แต่ที่ G?ttingen เป็นเยอรมัน 80% ทำให้ต้องปรับวิธีการนำเสนอให้จริงจัง เรียบ ตรงเป้า มุ่งให้ข้อเท็จจริงรอบด้าน และต้องลดสีสันและอารมณ์ขันลงค่อนข้างมาก ในช่วงสัปดาห์ Methodologies ผมได้มีโอกาสเห็น Presentation ของอาจารย์ท่านหนึ่ง ทำในสไตล์คล้าย ๆ ของผม ซึ่งแปลกมากสำหรับคนเยอรมันที่ทำแบบนั้น เขาต้องเป็นคนขี้เล่นและอารมณ์ดีมาก แต่ผมดูไปดูมาแล้วคิดว่ามันไม่จริงจัง เพื่อนคนเยอรมันดูแล้วก็มองว่ามันไม่เหมือนข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันขี้เล่นไปหน่อย ผมก็ว่าดีเหมือนกันที่เราได้ส่องกระจกมองวิธีการนำเสนอของตัวเอง ซึ่งทำให้คิดว่าต่อไปต้องทำ Presentation ให้ดูจริงจังมากขึ้นและเน้นความเรียบ แต่การมาเรียนตอนอายุมากทำให้เหนื่อยง่าย ร่างกายไม่ดีเหมือนตอนเป็นวัยรุ่น จดเล็คเชอร์ก็เล่นเอาเจ็บมือไปหมดซึ่งเมื่อก่อนไม่เป็น นั่งทำงานก็ปวดเอวปวดหลังไปหมด ตอนอ่านหนังสือก็เหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อน แถมยังไม่พอยังชอบตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมาเรียนเรื่องนี้ด้วย (ฟะ) โดยเฉพาะเวลาต้องท่องสูตร อัลฟ่าลบเบต้า ยกกำลังแกมม่า อะไรทำนองนี้ไปตอบข้อสอบ ทำให้บางทีเสียสมาธิ ในขณะที่ถ้ามาเรียนตอนเป็นเด็กก็จะเรียน ๆ ไปไม่ต้องตั้งคำถามมาก ดังนั้นการมาเรียนปริญญาเอกตอนอายุมากก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ท้ายที่สุดของเรื่องเล่าวันนี้ก็คืออยากจะขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งเสริมการอ่านของผมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้อ่านได้คล่องและอ่านได้เร็ว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการศึกษาจนถึงขั้นสูงสุด ผมยังจำได้ว่าหลังจากการทำฟันหนึ่งซี่ คุณแม่ก็จะซื้อการ์ตูนให้หนึ่งเล่ม แล้วก็ยังต้องซื้อให้ทุกสัปดาห์จนบ้านผมเป็นแหล่งสะสมการ์ตูนที่เพื่อน ๆ ชอบแวะเวียนมาอ่าน แม้แต่คุณพ่อก็เคยซื้อการ์ตูนให้ ตอนโตมาก็ยังเอาเงินให้ซื้อหนังสืออ่านไม่ขาด ผมชอบไปแวะร้านหนังสือตอนเย็นก่อนขึ้นรถที่ตลาดกลับบ้าน (ย้ายบ้านไปอยู่ชานเมือง) ผมเคยตัดสินใจเลิกอ่านหนังสือสักพักเพราะหนังสือมีเยอะมากจนอ่านไม่หมด ทำได้ประมาณหนึ่งปีก็ไปเยี่ยมร้านหนังสือใหม่แล้วพบว่าตัวเองล้าหลังไม่ทันเหตุการณ์และวิทยาการสมัยใหม่ จากนั้นจึงเริ่มซื้อมาอ่านอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเงินของคุณพ่อคุณแม่ทั้งนั้นแหละครับ ผมจึงใคร่ขอขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ โอกาสนี้ ตอนนี้อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าผมเริ่มอ่านได้อีกภาษาหนึ่งแล้วคือภาษาเยอรมัน โดยเฉพาะข่าวกีฬาฟุตบอล ตอนเปิดไปดูในเว็ปไซต์ตอนแรกเห็นข่าวที่อยากอ่านก็อ่านเลย ไม่ทันคิดว่าเป็นภาษาเยอรมัน พออ่านไปได้สักครึ่งทางก็เริ่มฉุกใจคิดว่า เฮ้ย นี่มันภาษาอังกฤษหรือภาษาเยอรมันกันแน่ ก็กลายเป็นภาษาเยอรมัน ผมก็เลยได้คิดว่าตอนนี้พออ่านเยอรมันรู้เรื่องบ้างแล้ว ก็ดีครับ สมกับเป็นนักเรียนเยอรมันหน่อย แต่ยังไม่เก่ง ตรงที่เริ่มฉุกคิดนั้นก็เพราะเริ่มอ่านไม่รู้เรื่องแล้วนั่นเอง วันนี้เขียนมายาวเหยียดคิดว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้อ่านเต็มอิ่มนะครับ อาทิตย์หน้าผมจะเขียนเรื่องที่หนักกว่าเดิมคือสรุปวิชาที่ไปเรียนมา คือ Advanced Development Economics จุดประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมสอบ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้ศึกษาไปด้วย เพราะไหน ๆ ก็ได้ทำแล้วก็เอาขึ้นเว็ปด้วยเลย ถ้าไม่เอาขึ้นเว็ปเดี๋ยวก็หายหมดหรือล้าสมัยไปหมด วิชาความรู้ไม่ได้ใช้ก็หายครับ พอเอาแขวนไว้บนเว็ปเราอยากอ่านเมื่อไรก็อ่านได้ ผมก็ยังต้องมาตามหาวิชาเก่า ๆ ที่ตัวเองเขียนในเว็ปนี้ เพราะคมสันตอนอายุมากก็เลอะเลือน สู้คมสันตอนหนุ่ม ๆ ที่แม่นยำกว่าไม่ได้ บันทึกไว้ตอนนี้ตอนที่จำอะไรได้ดี ๆ ปีหน้าก็จำไม่ได้แล้วก็จะได้กลับมาอ่านครับ ไม่ทำให้เสียเวลาอะไร ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ พรุ่งนี้ผมจะเริ่มทำ Presentation สำหรับงานที่ Kiel คิดว่าใช้เวลาสองวัน สองวันนี้ผมจึงจะไม่เขียนบทความขึ้นเว็ปครับ ขอให้คุณพ่อคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขนะครับ รักคุณพ่อคุณแม่ครับ กลับไปสู่สารบัญ |