คืนสุดท้ายที่บอนน์ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ 26 กันยายน 2552 คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่ผมจะได้อาศัยอยู่ที่บอนน์ พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปเมืองเกิร์ทธิงเก้นและอาศัยอยู่ที่นั่นอีกราวหนึ่งปี วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้บันทึกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบอนน์ เกิร์ทธิงเก้น และการเดินทางครั้งนี้ เริ่มต้นการเดินทางด้วยอาการข้อเท้าแพลง มันจะเป็นเมื่อไรก็ไม่เป็น มาเป็นเอาวันที่ต้องเดินทางครั้งสำคัญ ครั้งนี้ผมไม่ไปก็ไม่ได้เพราะต้องไปร่วมงานมหกรรมเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่จะเริ่มในวันจันทร์ แถมยังมีหน้าที่พรีเซ้นท์ (เอาเกรด) อีกสองเรื่อง นอกจากนั้นยังคาบเกี่ยวกับเวลาเข้าหอพักใหม่ซึ่งต้องไปเอากุญแจ เริ่มต้นก็คือต้องหอบของที่พะรุงพะรังทั้งหลายไปที่โรงแรมก่อน จากนั้นรอจนกว่าจะเข้าเดือนตุลาคมจึงจะหอบของไปเข้าหอใหม่ได้ อาการข้อเท้าแพลงทำให้กังวลว่าจะแบกน้ำหนักไปไม่ไหว ผมเลยลดโหลดกระเป๋าลงครึ่งหนึ่งแล้วฝากไว้ที่ห้องเพื่อนที่บอนน์ นั่นเป็นข้อคิดว่ามีเพื่อนไว้ดีกว่าไม่มี และความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ จริง ๆ แล้วร่างกายของผมค่อนข้างกรอบจากการเดินทางมาตั้งแต่ไปเรียนหนังสือที่คีล แล้วมาปิดท้ายที่การเดินป่าในเกิร์ทธิงเก้น ทำให้เจ็บโน่นเจ็บนี่ไปหมด ตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะเป็นครบเกือบทั่วตัวแล้ว แต่ก็ยังทนได้ เจ็บที่หนึ่งเดี๋ยวก็หาย แต่มันจะไปเจ็บอีกที่หนึ่ง ผมคิดว่าเส้นมันไปถึงกันหมด กดที่หนึ่งไปโผล่อีกที่หนึ่ง ตอนแรกว่าจะไปหาอะไรที่ชอบกินทิ้งท้ายที่บอนน์ คือ ขาหมูเยอรมัน แต่คิดไปคิดมาอย่าดีกว่าเพราะตอนนี้ต้องลดโหลดร่างกายไม่ให้หนักเกินไป ไม่อย่างนั้นข้อเท้าจะรับน้ำหนักไม่อยู่ ก็เลยตัดสินใจกินปลาอยู่ที่หอแทน บอนน์กับเกิร์ทธิงเก้นต่างกันมาก บอนน์เป็นเมือง International เพราะเป็นเมืองหลวงเก่า อุ่นกว่าเพราะมีแม่น้ำไรน์ รถเมล์มาบ่อยกว่า และมีรถไฟใต้ดิน ไปไหนมาไหนสะดวก เกิร์ทธิงเก้นเป็นเมืองการศึกษา มีขนาดเล็ก ๆ ประมาณครึ่งหนึ่งของเชียงใหม่ฝั่งแม่น้ำปิงทางที่ติดกับดอยสุเทพ รถเมล์กว่าจะมาก็ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างเร็ว และไม่มีรถไฟใต้ดิน นักศึกษาไปไหนมาไหนต้องใช้จักรยาน แต่ผมว่าท่าจะไม่ไหวเพราะอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวประมาณศูนย์องศาเซลเซียส ผมเลยว่ายังไงก็จะซื้อตั๋วรถเมล์ดีกว่าเพราะในรถเมล์มีเครื่องทำความอุ่น (Heater) ชีวิตการศึกษาที่เกิร์ทธิงเก้นดูจริงจังกว่าบอนน์ เหตุเพราะคนไปไหนไม่ค่อยได้ ทั้งไม่มีที่ให้ไป (โรงหนังทั้งเมืองมีแห่งเดียว) และหนาว เวทีที่คนจะมาสังสรรค์กันได้ก็คือวันที่มีสัมมนาหรือบรรยายพิเศษ (เรียกว่า โคโลเกียม) นั่นเรียกว่าสังสรรค์แล้ว เพราะคนจะมาเจอกันยิ้มแย้มแจ่มใสและฟังการนำเสนอของเพื่อน ๆ หรืออาจารย์ บางครั้งเราก็ต้องพรีเซ้นท์งานของเราด้วย แต่ต้องจองที่ไว้ให้ดีเพราะสัปดาห์หนึ่งมีครั้งเดียว (สัมมนาหนึ่งครั้ง และโคโลเกียมอีกหนึ่งครั้ง) หลักสูตรที่เกิร์ทธิงเก้นไม่เน้นการเรียน Course work เขาเขียนว่าให้ลงอะไรก็ได้ 2 วิชา (และโดยมากวิชาเหล่านี้จะสอบเป็นการพรีเซ้นท์ ไม่สอบข้อเขียน) และลงสัมมนากับโคโลเกียม ผมก็จัดแจงลงทุกอย่างครบในเทอมเดียว แต่หากเราพบว่าเราไม่รู้วิชาอะไร หรือต้องรู้อะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ทำวิทยานิพนธ์ได้ดีขึ้น ต้องไปหาเรียนวิชาระดับปริญญาโท ซึ่งมีให้เลือกนับร้อยวิชา เขาไม่บังคับ เราต้องรู้ตัวเอาเอง คุณภาพของการศึกษาวัดกันที่การพรีเซ้นท์ ที่ดีก็คือทุกครั้งจะมีศาสตราจารย์กลุ่มหนึ่งมาฟังเราเสมอ อย่างในสัมมนานี่ถือเป็นกลุ่มเล็กจะมีศาสตราจารย์ประมาณ 4 - 5 ท่าน และในโคโลเกียมจะมีศาสตราจารย์มาฟังประมาณ 30 ท่าน เขาว่าถ้าเราพรีเซ้นท์ผ่านโคโลเกียมไปได้อย่างสวยงามก็ถือว่าจบ แต่เราจะมีโอกาสแค่เทอมละครั้งเท่านั้น เพราะทุกคนต่างมุ่งจองเวลาจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับเราเป็นครั้งที่สองในเทอมเดียวกัน ความเข้มแข็งของโคโลเกียมทำให้นักศึกษาได้รับ feedback ที่เข้มข้น จนมหาวิทยาลัยไม่ต้องบังคับให้นักศึกษาเอางานไปตีพิมพ์ก่อนจบ เพราะถือว่าผ่านศาสตราจารย์ 30 ท่านนี้ได้ก็หรูแล้ว แต่หากใครสามารถตีพิมพ์ได้ก่อนจบก็มักจะได้เกรด "ดีเยี่ยม (Excellent)" เป็นรางวัล (ต้องรอไปอีกประมาณ 2 ปี) แต่ถ้าใครไม่ได้ตีพิมพ์ก่อนสอบวิทยานิพนธ์อย่างมากก็จะได้ "ดีมาก (Very Good)" ปัญหาหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาไม่ค่อยจบกันเร็วก็คือที่เกิร์ทธิงเก้นจะไม่มีทุนให้ไปออกพื่นที่ นักศึกษาต้องสมัครทุนภายนอกเอาเอง นี่เป็นข้อที่ ZEF (บอนน์) ดีกว่าที่อื่นเพราะมีทุนให้ออกพื้นที่ทุกคน ก่อนออกเดินทางไปเกิร์ทธิงเก้นคราวนี้ นอกจากข้อเท้าจะแพลงแล้ว ยังต้องรีบอ่านบทความที่จะต้องไปพรีเซ้นท์ ผมเป็นคนแรก ๆ ที่จะโดนให้ขึ้นพรีเซ้นท์ ดังนั้นก็ต้องรีบทำ Power point ก็เลยต้องกลั้นใจทั้งทำงานและกลั้นใจเดิน ที่ผมปลีกมาเขียนบทความได้นี่คือตอนที่รอให้ข้าวที่หุงไว้สุก และตอนนี้คิดว่าสุกแล้ว ผมขอไปทานข้าวก่อน จากนั้นต้องไปซื้อตั๋วรถไฟ แล้วก็จะกลับมาอ่านหนังสือ ทำ Presentation แล้วพรุ่งนี้เวลาประมาณ 11.00 (เวลาเยอรมัน) จะได้ฤกษ์ออกเดินทางจากหอพัก รถไฟจะมารับเวลา 12.14 น. ผ่านแฟร้งเฟิร์ต แล้วถึงเกิร์ทธิงเก้นเวลา 16.47 น. แล้วรอรถเมล์มารับเวลา 17.37 น. จากนั้นจะเข้าที่พักก่อนเวลา 18.00 น. นิดหน่อย อดเที่ยวงาน แกนเซลีเซ้ล เฟสติวอล ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับเด็กหญิงที่เป็นสัญญลักษณ์ของเมืองที่ชื่อว่า แกนเซลิเซ้ล ที่หนึ่งปีจะมีเพียงหนึ่งครั้ง วันจันทร์เวลา 6.30 ต้องตื่นได้แล้ว จากนั้นรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม แล้วก็ต้องจัดแจงออกที่พักให้ทันก่อน 8.00 น. เพื่อเดินไปขึ้นรถเมล์ก่อนเวลา 8.15 น. จากนั้นก็จะได้เริ่มมหกรรมสัปดาห์เศรษฐศาสตร์พัฒนาที่อาคารคณะเศรษฐศาสตร์ตอน 9.00 น. สัปดาห์หน้าทั้งสัปดาห์เราจึงจะไม่ได้พบกันทางเว็ปนี้ ผมจะกลับมาที่บอนน์วันอาทิตย์ (ถ้าขาไม่ระบมจนมาไม่ไหว) เพื่อมาเอาของที่ฝากเพื่อนไว้ การเดินทางหนึ่งรอบใช้เงินประมาณ 100 ยูโร แต่ดีที่มีเงินเก็บเหลืออยู่พอจะจ่ายได้ ในคืนวันอาทิตย์นั้นผมก็จะกลับเกิร์ทธิงเก้นเลย และจะกลับมาบอนน์อีกเป็นครั้งคราว กว่าที่ผมจะได้เขียนบทความลงเว็ปอีกก็คงอีกสองอาทิตย์จนกว่าจะจัดแจงทุกอย่างลงตัวที่เกิร์ทธิงเก้น ผมจะคิดถึงทุกท่าน และก็ขอให้ทุกท่านเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กลับสู่สารบัญ |