หัวใจของโลจิสติกส์ท่องเที่ยว |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ 16 กรกฎาคม 2552 ผมอ่านบทความของอาจารย์ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ เรื่อง Tourism Logistics or Tourism Supply Chain Management? แล้วคิดว่าถูกต้อง ทำให้เกิดความกระจ่างว่า Tourism Logistics ต่างกับ Tourism Supply Chain Management อย่างไร และอาจารย์ไพรัชเล่าได้สนุกมาก ผมจึงอยากจะเขียนเพิ่มเติมเพื่อทำให้กรอบแนวคิดเรื่อง Tourism Logistics สมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยการพยายามตอบคำถามดังต่อไปนี้
ผมตอบคำถามเหล่านี้ระหว่างที่รถไฟจากบอนน์ไปคีลเกิดประสบอุบัติเหตุกลางทาง ทำให้ต้องขนผู้โดยสารที่หลับสลึมสลือทั้งคันให้ขึ้นรถบัสจากออสนาบรึ้กไปยังเบรเมน จากนั้นต้องต่อรถไฟจากเบรเมนไปฮัมบวร์ก แล้วจากฮัมบวร์กจึงได้ต่อรถไฟไปคีล การเดินทางอันแสนจะมาราธอนคราวนี้ดันเกิดขึ้นตอนผมลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไปด้วย ซึ่งปกติก็ไม่เคยเอาไป และสภาพร่างกายไม่สู้ดี เคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก ทำให้ผมได้คิดอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเรื่องโลจิสติกส์ของการท่องเที่ยว ผมจะตอบคำถามจากหลังไปหน้า เพราะจะได้สั้นกระชับและได้ใจความกว่าการตอบจากหน้าไปหลัง ดังนี้ เรื่องที่ 4 โลจิสติกส์ท่องเที่ยว ต่างจาก การจัดการห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว อย่างไร คำตอบข้อนี้ อาจารย์ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ได้ตอบไว้แล้ว ในบทความเรื่อง Tourism Logistics or Tourism Supply Chain Management? จึงต้องยกเครดิตให้ และผมขอสรุปดังนี้ว่า โลจิสติกส์ท่องเที่ยวคือ "การจัดการประสานงานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ (Activities) เพื่อทำให้การไหลของนักท่องเที่ยวจากต้นทางไปสู่ปลายทางโดยไม่มีข้อผิดพลาดและยังทำให้ได้รับความพอใจสูงสุด" ผมชอบที่อาจารย์ไพรัชใช้คำว่า Flawless แปลว่าปราศจากข้อผิดพลาดแม้แต่น้อยนิด ยกตัวอย่างเช่น การพานักท่องเที่ยวจากต้นทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ผู้จัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวจะต้องประสานงานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รถบัส เรือ และที่พัก โดยให้รถบัสมารับนักท่องเที่ยวที่จุดนัดพบ บนรถก็มีไกด์คนหนึ่งคอยพูดชวนให้นักท่องเที่ยวสนุกสาน จากนั้นพาไปลงเรือ ในเรือก็มีการเล่นเกมส์ให้เริงรื่น ระหว่างนั้นก็ติดต่อกับทางที่พักว่านักท่องเที่ยวมาแล้วให้เตรียมตัวต้อนรับได้ เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเกาะก็มีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับ เมื่อเข้าที่พักก็มีอาหารเครื่องดิ่มบริการ ในขณะที่การจัดการห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว เป็นมากกว่านั้น คือ ในแต่ละกิจกรรมมีเบื้องหลังอยู่อีกมาก เช่น กิจกรรมรถบัส มีกิจกรรมย่อย คือ การจัดซื้อรถ การจัดซื้อน้ำมัน การจัดและอบรมพนักงานขับรถ การบำรุงรักษารถ การเสียภาษีรถ ส่วนกิจกรรมที่พักก็มีกิจกรรมย่อย เช่น การเตรียมอาหาร การซักรีด การเสียภาษี การบำบัดน้ำเสีย การจ้างและอบรมพนักงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของโลจิสติกส์ท่องเที่ยว เรื่องที่ 3 โลจิสติกส์ท่องเที่ยว ต่างจาก การขนส่งนักท่องเที่ยว อย่างไร การขนส่งนักท่องเที่ยวเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในโลจิสติกส์ท่องเที่ยว การขนส่งเกิดขึ้น ณ ช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตลอดทั้งเส้นทาง เช่น กิจกรรมการขนส่งด้วยรถบัส กิจกรรมการขนส่งด้วยเรือ แต่ไม่มีกิจกรรมการขนส่งอีกเมื่ออยู่ในที่พัก แต่โลจิสติกส์ท่องเที่ยวเป็นตัวประสานกิจกรรมการขนส่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน และยังจัดการ ณ จุดที่ไม่มีการขนส่งด้วย เรื่องที่ 2 การขนส่งนักท่องเที่ยว ต่างจาก การขนส่งสินค้า อย่างไร เรื่องนี้ตอบได้ง่ายที่สุด แต่ถ้าใครไม่เคยเจอกับตัวอาจจะไม่รู้ แต่ผมโดนมาแล้วระหว่างทางจากออสนาบรึ้กไปเบรเมนทำให้ซาบซึ้งดี คำตอบก็คือ "ก็คนมีชีวิตจิตใจ" ยังไงหล่ะครับ ตอบง่าย ๆ สั้น ๆ ไม่ต้องขยายความมากท่านก็คงเข้าใจ เพราะท่านก็มีชีวิตจิตใจ
เรื่องที่ 1 อะไรคือหัวใจของการขนส่งนักท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ท่องเที่ยว ผมขอตอบเป็นเมตริกซ์ดังนี้ เมตริกซ์หัวใจของการขนส่งนักท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ท่องเที่ยว
ดังนั้น การศึกษาเรื่องโลจิสติกส์ของการท่องเที่ยว จึงต้องถามก่อนว่าจะทำเพื่อสนองนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน เมื่อทราบแล้ว เช่น ถ้าเราจะทำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้พาหนะร่วมกับคนท้องถิ่น เราก็ตั้งคำถามตาม Key Words ว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางได้ทุกขั้นตอนไหม หลงทางไหม มีการเชื่อมต่อของยานพาหนะไหม ส่วนไหนที่ยังไม่ดีจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น แต่ถ้าเราทำสำหรับนักท่องเที่ยวล้วน ๆ เราก็ตั้งคำถามตาม Key Words เช่นกันว่า นักท่องเที่ยวโอเคไหม ระหว่างการเดินทางเขารู้สึกผ่อนคลาย สนุก ปลอดภัย และได้อะไรไปเต็มอิ่มไหม นอกจากนั้นการประสานงานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ทำได้ดีจนทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจกลับไปไหม การประสานงานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ นั้นมีอะไรบ้าง สามารถอ่านได้ใน บทความเรื่อง กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์เรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว Link สำคัญ
กลับไปสู่สารบัญ |